ลิลิตพระลอ: Feb 5, 2007

ลิลิตพระลอ

Name:
Location: Bangkok, Thailand

Monday, February 5, 2007

ขุนมนเกริ่น



"ขุนมน" เกริ่น
__________________

     "ลิลิตพระลอ" ที่ปรากฏในนี้ ข้าพเจ้า "ขุนมน" คัดลอกแลบันทึกไว้เพื่อ อ่านเล่นแต่เปนการส่วนตน เท่านั้น

กระนั้นก็ดี..
สำหรับทุกท่านที่มีเหตุให้บังเอิญหลงเข้ามา แลนึกอยากจักอ่านลิลิตมหากาฬเรื่องนี้เล่น
ก็ดั่งจะมีที่พึงตระหนักอยู่บ้าง ดังนี้...


     ในส่วนของเนื้อเรื่อง "ลิลิตพระลอ" ซึ่งบันทึกด้วย o สีเหมือนข้อความนี้ นั้น
ข้าพเจ้า "ขุนมน" ได้คัดลอกคำต่อคำจากหนังสือชื่อเดียวกันของสำนักพิมพ์บรรณาคาร ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๔ ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔
กระนั้นก็ดี อาจมีแยกสีบ้างในบางบทบางช่วง เพื่อเน้นความตามแต่ข้าพเจ้าเห็นว่าควร


     ในส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามา อันข้าพเจ้าบันทึกไว้ด้วย สีเหมือนข้อความนี้ นั้น
ข้าพเจ้ามิได้จงใจแปลหรือถอดความ เปนแต่สรุปเรื่องราวอันเปนสำคัญ แลความคิดเห็นของข้าพเจ้าเอง ตลอดจนเกร็ดต่างๆไว้
     ที่มิได้แปล มิได้ถอดความทังหมดนั้น ก็เพื่อว่า เมื่อเปิดอ่านแต่ละครั้ง จะพึงได้รับอรรถรสของแต่ละบทแต่ละคำตามแต่อารมณ์ กำลังสติปัญญา แลจินตนาการส่วนตน ในตอนนั้น
     นั้นก็เนื่องด้วยว่าลิลิตเรื่องพระลอนี้ ในสายตาของข้าพเจ้า ทีจะแผกจากเรื่องอื่นใดอยู่บ้าง
กล่าวคือ...
ถึงหากว่าจะมิเคยได้อ่าน มิเคยได้รู้เรื่องราวในลิลิตเรื่อง"พระลอ"มาก่อนเลยก็ตาม ครันหยิบจับแต่ตอนใดตอนหนึ่ง หรือแม้โคลงแต่บทใดบทหนึ่งมาอ่าน ก็ย่อมจะยังให้บังเกิดความเพลิดเพลินในกลวิธีเรียงร้อยถ้อยคำที่เลิศล้ำเหลือหลาย
แลก็เมื่ออ่านโดยตลอดทังเรื่อง ยิ่งหลายเที่ยวก็จะยิ่งประจักษ์จิตในความพิสดาร ยิ่งดื่มด่ำแลลึกซึ้งในถ้อยคำสำนวน มากขึ้นเปนลำดับทับทวี
     ก็แลส่วนที่เพิ่มเติมมานี้ ย่อมเปนว่าคือความคิดเห็นส่วนตนของข้าพเจ้าเอง มิได้คัดลอกหรือมีที่อ้างอิงใด แต่หากบางแห่งมีที่มา ที่อ้างอิง ข้าพเจ้าจักระบุไว้ เปนแม่นมั่น

     ในส่วนของภาพประกอบ แม้นมิได้ระบุไว้เปนอย่างอื่น พึงหมายเอาว่าเปนสำเนาภาพฝีมือ ครูเหม เวชกร ซึ่งเคยตีพิมพ์บนปกหลังของนิตยสารชื่อ "วิทยาสาร" เมื่อนานมาแล้วทังนั้น แลหากมีบางภาพที่มิใช่ ข้าพเจ้าจักระบุไว้เปนคราวครา
     ก็แลในเรื่องพระลอนี้ มีการนำเนื้อหาไปทำเปนการแสดง มีการแต่งคำร้อง ใส่ทำนอง ประดิษฐ์ท่ารำ อยู่ก็มาก ซึ่งข้าพเจ้าจักกล่าวถึงเมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปถึงแต่ละตอนนั้นๆ
แลข้าพเจ้าก็มีเพลงเหล่านี้อยู่บ้าง จึงนำมาบันทึกไว้เพื่อฟังเล่นที่เว็บไซต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเปนที่ที่ข้าพเจ้าฝาก "เพลงไทยเดิม" ทังขับร้องแลบรรเลงไว้เพื่อจิ้มฟังเล่น
หากแม้นท่านนึกอยากจักฟัง ก็อาจคลิกเข้าไปฟังได้

เพลงอันเกี่ยวแก่เรื่อง"พระลอ"ที่มีบันทึกไว้..
   ลาวสมเด็จ กล่าวถึงพระลอ
   ลาวเจริญศรี เปนการขับลำนำบรรยายความงามของสองศรีแห่งเมืองสรอง
   ลาวเสี่ยงเทียน (ตัด) เปนเพลงที่กล่าวชมโฉมพระเพื่อนพระแพงอีกเพลงหนึ่ง แต่ในนี้มีเพียงท่อนเดียว
   ลาวสวยรวย บรรยายถึงอาการของพระลอเมื่อโดนมนต์จาก "สลาเหิน"
   ตับพระลอคลั่ง เปนเพลงที่เรียกว่า "ตับเรื่อง" คือเพลงที่ประกอบด้วยหลายๆเพลง ใส่เนื้อร้องบรรยายเรื่องราวต่างๆติดต่อกัน รายละเอียดแลเนื้อร้องของเพลงนี้ ได้บันทึกไว้เมื่อเนื้อเรื่อง "ลิลิตพระลอ" ดำเนินไปถึงช่วงนั้น
เพลงนี้มีความยาว 28:31 นาที ขนาดไฟล์ 4.76 MB
   ลาวครวญ พระลอก่นครวญถึงแม่ที่ริมฝั่งแม่กาหลง พะว้าพะวังจะไปต่อหรือคืนเมือดี แล้วเสี่ยงน้ำดู
เป็นตอนที่สะเทือนใจยิ่งอีกตอนหนึ่งในเรื่อง"พระลอ" นี้
   ระบำไก่ (ปู่เจ้าเรียกไก่, สร้อยแสงแดง) เป็นการนำเนื้อเรื่องในตอนปู่เจ้าสมิงพรายเลือกไก่มาเสกผีลงสิง ใช้ให้ไปล่อนำทางพระลอ เพลงนี้มีความยาว 7:32 นาที ขนาดไฟล์ 4.4 MB
   พระลอตามไก่ เปนเพลงขับร้องประกอบรำ ต่อจาก "ระบำไก่"
บรรยายท่าทางที่ไก่ผีสิงหลอกล่อให้พระลอตามไปสู่เมืองสรอง ตอนนี้รำสวยทั้งไก่ แลพระลอ
เพลงนี้มีความยาว 14:15 นาที encode ด้วย WM 10 เปนไฟล์ WMA 64 kbps, 44 kHtz ขนาดไฟล์ 6.8 MB
   การะเกด หรือ "ลาวเดินดง" เปนเพลงไทยเดิมขับร้องประกอบรำ บรรยายตอนที่พระลอเพลินชมอุทยานหลวงของพระเพื่อน พระแพง
   พระลอเข้าสวน (16:33 นาที) เพลงนี้ประกอบด้วยสามส่วน คือ
ตอนพระลอปลอมเปนพราหมณ์เข้าสู่อุทยาน ตอนพระลอชมสวน(การะเกด - ลาวเดินดง) และ ตอนนายแก้วนายขวัญพบนางรื่นนางโรยในอุทยาน ซึ่งในตอนนี้เปนเพลงชื่อ "ฟ้อนรัก"

     ในส่วนของภาพแลเพลงนี้ หากว่ามีส่วนใดละเมิดลิขสิทธิ์ที่ท่านเปนผู้ถือครองอยู่โดยชอบ โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้า "ขุนมน" ทราบ เพื่อจักได้ลบทิ้งโดยพลัน


     คำนำ "ลิลิตพระลอ"...   
ในส่วนของคำนำ ข้าพเจ้าได้คัดโดยตัดทอนเอาจากคำนำของกรมศิลปากร ซึ่งปรากฏในหนังสือ "ลิลิตพระลอ" ของสำนักพิมพ์บรรณาคาร ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๔ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔


     อนึ่งนั้น.. อันข้าพเจ้านี้ ใช่ว่าจะมีใจรักในตัว "ขุนลอ"ท้าว หรือตัวละครใดในเรื่องพระลอก็หาไม่
ข้าพเจ้าเปนแต่ลุ่มหลงในตัวอักษร ที่ผู้ทรงนิพนธ์ได้ประจงเรียงร้อยไว้อย่างสุดวิเศษ... เท่านั้น

__________________


คำนำ

    ... ฯลฯ ...
.....
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานอธิบายเกี่ยวกับหนังสือลิลิตพระลอไว้ในหนังสือบันทึกสมาคมวรรณคดี ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๕ วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๗

    "... ฯลฯ... ใครเป็นผู้แต่งลิลิตเรื่องพระลอและแต่งเมื่อไร ปัญหานี้ดูเหมือนจะยังไม่เคยวินิจฉัยกันให้ถ้วนถี่ (ภายหลังต่อมา มีผู้สนใจค้นคว้าวินิจฉัยไว้หลายท่าน) ข้าพเจ้าได้อ่านเรื่องพระลอนี้อีกครั้งหนึ่งเมื่อจะแต่งคำวินิจฉัยนี้ ขอเสนอแก่ท่านทั้งหลายด้วย คือข้างท้ายลิลิตมีโคลงบอกชื่อผู้แต่งอยู่ ๒ บท บทหนึ่งว่า "มหาราชเจ้านิพนธ์" หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่ง แต่อีกบทหนึ่งว่า "เยาวราชเจ้าบรรจง" หมายความว่าพระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่ง ที่บอกแย้งกันดังนี้ ส่อให้เห็นว่าผู้ที่แต่งโคลง ๒ บทนั้น เป็น ๒ คน และไม่ใช่ตัวผู้แต่งลิลิตพระลอ โคลง ๒ บท เป็นของแต่งเพิ่มขึ้นแต่ภายหลัง ส่วนผู้แต่งลิลิตเอง ได้กล่าวไว้ในโคลงบานแผนกข้างต้นเรื่องว่า..
"เกลากลอนกล่าวกลการ   กลกล่อม ใจนา
ถวายบำเรอท้าวไท้          ธิราชผู้มีบุญ"
หมายความว่าผู้อื่นแต่งถวายพระเจ้าแผ่นดิน มิใช่พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งเอง เหตุใดผู้แต่งโคลง ๒ บทข้างท้ายลิลิตจึงอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินและพระเยาวราชทรงแต่ง จะลงเนื้อเห็นว่าอ้างโดยไม่มีมูล ก็กระไรอยู่ พิจารณาดูสำนวนที่แต่งก็เห็นได้ ผู้แต่งลิลิตพระลอเป็นผู้รู้ราชประเพณีและการเมือง ต้องเป็นบุคคลชั้นสูงอยู่ในราชสำนัก ประกอบทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญอักษรศาสตร์ ผู้ที่ทรงความสามารถถึงปานนั้นมักเป็นเจ้านาย จะยกตัวอย่างเช่น เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร และ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นต้น จึงสันนิษฐานว่าผู้แต่งลิลิตพระลอนั้น เมื่อแต่งยังเป็นพระราชโอรส และต่อมาได้รับรัชทายาทเป็นพระเจ้าแผ่นดิน โคลงข้างท้ายลิลิตบทที่ว่า "เยาวราชเจ้าบรรจง" แต่งก่อนโคลงบทที่ว่า "มหาราชเจ้านิพนธ์" เดิมก็เห็นจะแต่งเขียนลงในหนังสือพระลอฉบับของผู้แต่งโคลงนั้น ครั้นเมื่อรวบรวมฉบับชำระหนังสือเรื่องพระลอในกาลครั้งใดครั้งหนึ่ง (อาจจะเมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้) พบโคลง ๒ บทนั้น จึงรวบเขียนลงไว้ในฉบับชำระใหม่ด้วยก็เลยติดอยู่
    ปัญหาข้อที่ว่าหนังสือลิลิตพระลอแต่งเมื่อไร ข้อนี้ตัดสินได้ทันทีว่า แต่งก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะหนังสือจินดามณีที่พระโหราฯ แต่งในรัชกาลนั้น ได้คัดเอาโคลงลิลิตพระลอ คือบทที่ว่า
    o เสียงฦๅเสียงเล่าอ้างอันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใครทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหลลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้าอย่าได้ถามเผือ ฯ
มาใช้เป็นแบบโคลง ๔ เพราะเอกโทตรงตามตำราหมดทุกแห่ง นอกจากหนังสือจินดามณี ยังมีเค้าเงื่อนอย่างอื่นเป็นที่สังเกตอีก คือ หนังสือบทกลอนแต่งครั้งกรุงศรีอยุธยา(ว่าตามตัวอย่างที่ยังมีอยู่) ต่างกันเป็น ๓ ตอน
  ตอนต้นนับแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมา ชอบแต่งลิลิตกันเป็นพื้น มีลิลิตโองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยา ลิลิตเรื่องยวนพ่าย และลิลิตเรื่องพระลอเป็นตัวอย่าง สำนวนทันเวลากันทั้งสามเรื่อง พึงเห็นได้ว่าในสมัยนั้นยังไม่สู้ถือว่าคณะและเอกโทเป็นสำคัญเท่ากับคำ
  มาตอนกลางนับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมา ชอบแต่งโคลงและฉันท์กันเป็นพื้น มีโคลงพระศรีมโหสถ และโคลงกำสรวล กับทั้งโคลงเบ็ดเตล็ตเป็นตัวอย่าง ส่วนฉันท์ก็มีเรื่องสมุทรโฆษและเรื่องอนิรุธเป็นตัวอย่าง
  ถึงตอนปลายนับตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ชอบแต่งกลอนเพลงยาวกันเป็นพื้น ซึ่งตัวอย่างมีอยู่มาก ในกรุงศรีอยุธยาตอนกลางและตอนปลายหาปรากฏว่าแต่งแต่งลิลิตเรื่องใดไม่
  จึงเห็นว่าควรถือเป็นยุติได้ว่า ลิลิตเรื่องพระลอนั้นแต่งในกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๙๑ จน พ.ศ. ๒๐๒๖ ส่วนผู้แต่งนั้น จะว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดยากอยู่ ด้วยจะเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หรือสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร พระองค์ใดพระองค์หนึ่งก็ได้ทั้งนั้น เป็นอันรู้ไม่ได้แน่"


    ลิลิตพระลอนี้ ฉบับเก่าที่สุดที่พบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ จัดพิมพ์ขึ้นที่โรงพิมพ์หลวง ไม่ปรากฏ พ.ศ. ที่พิมพ์ ต่อมา หอสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครได้ให้ตีพิมพ์เผยแพร่ตามฉบับโรงพิมพ์หลวงครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ที่โรงพิมพ์ไทย ต่อมาสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดให้พิมพ์ครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่โรงพิมพ์โภณพิพรรฒธนากร ...
... ฯลฯ... ครั้งนี้นับเป็นพิมพ์ครั้งที่สิบสี่ การพิมพ์ทุกครั้งได้ใช้ฉบับ พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งพิมพ์ตามฉบับโรงพิมพ์หลวง ครั้งรัชกาลที่ ๕ มีตัวสะกดการันต์ผิดเพี้ยนบ้างเล็กน้อย ในฉบับโรงพิมพ์หลวงและฉบับพิมพ์ต่อมาทุกครั้ง เขียนชื่อเมืองของพระเพื่อนพระแพงเป็น ๒ อย่าง คือตอนแรกเขียนว่า"เมืองสรวง" (ซ้ำกับชื่อเมืองของพระลอ) ดังนี้ ... พระบาทเจ้าเมืองสรวง สมบัติหลวงสองราชา... แต่ตอนหลังเขียนว่า "เมืองสอง" หรือ "เมืองสรอง" ตลอด ในคราวพิมพ์คราวนี้ ได้ลองตรวจดูในฉบับเขียนสมุดดำอันมีอยู่ในหอสมุดวชิรญาณ ปรากฏว่า ตอนที่ฉบับพิมพ์ทั้ง ๒ เขียนว่า "เมืองสรวง" นั้น ในสมุดดำที่ได้ตรวจดูถึง ๗ ฉบับ เขียนว่า "เมืองสรอง" ดังนี้ ... พระบาทเจ้าเมืองสรอง สมบัติหลวงสองราชา... และต่อๆไปก็เขียนว่า "เมืองสรอง" ทุกแห่ง     อนึ่ง โคลงบทสุดท้ายในเรื่องพระลอนี้ ที่ว่ามีผู้แต่งเพิ่มเติมขึ้นภายหลังนั้น โคลงบาทที่ ๑ ในฉบับพิมพ์ทั้ง ๒ เล่ม เขียนว่า "จบเสร็จเยาวราชเจ้า บรรจง" แต่ฉบับเขียนในสมุดดำที่ได้ตรวจดู ๗ ฉบับนั้น เขียนว่า "จบเสร็จมหาราชเจ้า บรรจง" เหมือนกันทุกฉบับ ... ฯลฯ


จบ คำนำ

__________________

เริ่มเรื่องพระลอ


= ลิลิตพระลอ =

สรรเสริญกรุงศรีอยุธยา
__________________________

ร่าย
    o ศรีสิทธิฤทธิไชย ไกรกรุงอดุงเดชฟุ้งฟ้า หล้ารรัวกลัวมหิมา รอาอานุภาพ ปราบทุกทิศฤทธิรุกราน ผลาญพระนคร รอนลาวกาวตาวตัดหัว ตัวกลิ้งกลาดดาษดวน ฝ่ายข้างยวนแพ้พ่าย ฝ่ายข้างลาวประไลย ฝ่ายข้างไทยไชเยศร์ คืนยังประเทศพิศาล สำราญราษฎร์สัมฤทธิ พิพิธราชสมบัติ พิพัฒนมงคล สรพสกลสิมา ประชากรเกษมสุข สนุกทั่วธรณี พระนครศรีอโยธยา มหาดิลกลภ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมยศโยคยิ่งหล้า ฟ้าฟื้นฟึกบูรณ์ ฯ

โคลง ๔
    o บุญเจ้าจอมโลกเลี้ยงโลกา
ระเรื่อยเกษมสุขพูนใช่น้อย
แสนสนุกอโยธยาฤๅร่ำ ถึงเลย
ทุกประเทศชมค้อยค้อยกล่าวอ้างเยินยอ ฯ
    o รู้มลักสรพศาตร์ถ้วนหญิงชาย
จักกล่าวกลอนพระลอเลิศผู้
ไพเราะเรียบบรรยายเพราะยิ่ง เพราะนา
สมปี่ลู้เสียงลู้ล่อเล้าโลมใจ ฯ
    o สรวลเสียงขับอ่านอ้างใดปาน
ฟังเสนาะใดปูนเปรียบได้
เกลากลอนกล่าวกลการกลกล่อม ใจนา
ถวายบำเรอท้าวไท้ธิราชผู้มีบุญ ฯ


คือสองนครา
คือเหตุแห่งพยาบาท


    เจ้าเมืองสรวงรุกรานจะเอาสรองเปนเมืองขึ้น
การนี้แม้มิสำเร็จ แต่เจ้าเมืองสรองก็ "ขาดคอช้าง"
จวบจนพระลอเสวยราช... ลือขจร
__________________________

ร่าย
    o กล่าวถึงขุนผู้ห้าว นามท่านท้าวแมนสรวง เป็นพระยาหลวงผ่านเผ้า เจ้าเมืองสรวงมีศักดิ์ ธมีอัคเทพีพิลาศ ชื่อนางนาฎบุญเหลือ ล้วนเครือท้าวเครือพระยา สาวโสภาพระสนม ถ้วนทุกกรมกำนัล มนตรีคัลคับคั่ง ช้างม้ามั่งมหิมา โยธาเดียรดาษหล้า หมู่ทกล้าทหาร เฝ้าภูบาลนองเนือง เมืองออกมากมียศ ท้าวธมีโอรสราชโปดก ชื่อพระลอดิลกล่มฟ้า ทิศตวันออกหล้า แหล่งไล้สีมา ท่านนา ฯ

ร่าย
    o มีพระยาหนึ่งใหญ่ ธไซร้ทรงนามกร พิมพิสาครราช พระบาทเจ้าเมืองสรอง สมบัติหลวงสองราชา มีมหิมาเสมอกัน ทิศตวันตกไท้ท้าว อคร้าวครอบครองยศ ท้าวธมีเอารสราชฦๅไกร ชื่อท้าวพิไชยยพิษณุกร ครั้นลูกภูธรธใหญ่ไซร้ ธก็ให้ไปไต่ไปถาม นางนามท้าวนามพระยา ชื่อเจ้าดาราวดี นางมีศรีโสภา เป็นนางพระยาแก่ลูกไท้ ลูกท้าวธได้เมียรัก ลำนักเนตรเสนหา อยู่นานมามีบุตร สุดสวาทกษัตริย์สององค์ ทรงโฉมจันทรงามเงื่อน ชื่อท้าวเพื่อนท้าวแพง จักแถลงโฉมเลิศล้วน งามถี่พิศงามถ้วน แห่งต้องติดใจ บารนี ฯ

ร่าย
     o เมื่อนั้นไท้แมนสรวง พระยาหลวงให้หา หัวเมืองมาริปอง ว่าเมืองสองกษัตริย์กล้า อย่าช้าเราจะรบ ชิงพิภพเป็นเมืองออก เร่งบอกให้เรียบพล นายกคณชุมกัน ครันเทียบพลเศิกเสร็จ ท้าวธเสด็จพยุบาตร ลีลาศจากพระนคร คลี่นิกรพลพยู่ห์ สู่แดนศึกบมิช้า เดียรดาษพลช้างม้า เพียบพื้นภมิน ฯ

ร่าย
     o ส่วนนรินทรราชา พิมพิสาครราช พระบาทครั้นได้ยิน ว่าภูมินทรแมนสรวง ยกพลหลวงมากระทั่ง ท้าวธก็สั่งคนออกรับ ตับตามกันเดียรดาษ พระบาทเสด็จบมิช้า พลหัวหน้าพะกัน แกว่งตาวฟันฉฉาด แกว่งดาบฟาดฉฉัด ซร้องหอกซัดยยุ่ง ซร้องหอกพุ่งยย้าย ข้างซ้ายรบบมิคลา ข้างขวารบบมิแคล้ว แกล้วแลแกล้วชิงข้า กล้าแลกกล้าชิงขัน รุมกันพุ่งกันแทง เข้าต่อแย้งต่อยุทธ์ โห่อึงอุจเอาชัย เสียงปืนไฟกึกก้อง เสทือนท้องพสุธา หน้าไม้ดาปืนดาษ ธนูสาดศรแผลง แขงต่อแขงง่าง้าง ช้างพะช้างชนกัน ม้าผกผันคลุกเคล้า เข้ารุกรวนทวนแทง รแรงเร่งมาหนา ถึงพิมพิสาครราช พระบาทขาดคอช้าง ขุนพลคว้างขวางรบ กันพระศพกษัตรีย์ หนีเมื้อเมืองท่านไท ครั้นพระศพเข้าได้ ลั่นเขื่อนให้หับทวาร ท่านนา ฯ

ร่าย
     o งารรักษาพระนคร ท้าวพิไชยพิษณุกรกันเมืองได้ ไท้แมนสรวงเสด็จคืน ท้าวพิไชยยืนครองพิภพ ปลงศพพระราชบิดาแล้วไส้ ธก็ให้สองพงาหน่อเหน้า ไปอยู่ด้วยย่าเจ้าวังเดียว กับสองนางเฉลียวฉลาด พี่เลี้ยงราชธิดา โดยธตราชื่อชื่น ชื่อนางรื่นแลนางโรย โดยรักษาสองอ่อนท้าว สองสมเด็จเสด็จด้าว สู่ห้องเรือนหลวง ท่านแล ฯ

ร่าย
     o เมื่อนั้นไท้แมนสรวง พระยาหลวงผู้มีศักดิ์ ให้ไปกล่าวนางลักษณวดี นางมีศรีสวัสดิ์ลออ ให้แก่พระลอดิลก ยกเป็นอัคมหิษี มีบริพารพระสนม ถ้วนทุกกรมกำนัล ประกอบสรรพสมบูรณ์ จึ่งนเรนทร์สูรราชบิดา สวรรคาลัยแล้วเสด็จ พระลอเสด็จเสวยราช โฉมอภิลาสสระสม ดินฟ้าชมบรู้แล้ว โฉมพระลอเลิศแก้ว กว่าท้าวแดนดิน แลนา ฯ



สามกษัตริย์



คือ ขุนลอ

    ตอนนี้พรรณาถึงรูปโฉมพระลอได้อย่างเห็นภาพ... "ประเสริฐสรรพสรรพางค์ แต่บาทางค์สุดเกล้า พระเกศงามล้วนเท้า พระบาทไท้งามสม สรรพนา"
    ครูพยงค์ มุกดาพันธ์ ได้ประพันธ์เพลง "ยอยศพระลอ" โดยใช้โคลงบทแรก คือ "รอยรูปอินทร์หยาดฟ้า มาอ่าองค์ในหล้า แหล่งให้คนชม" มาเป็นต้นบทเกริ่นของเพลง โดยใช้ทำนองเพลงที่ดัดแปลงมาจากเพลงไทยเดิมชื่อ "ลาวกระทบไม้" ให้ "ชินกร ไกรลาศ"  เปนผู้ขับร้องประกอบในภาพยนต์เรื่อง "พระลอ"
    เพลง "ยอยศพระลอ" นี้ทำให้ "ชินกร ไกรลาศ" ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ("ชินกร ไกรลาศ" นายชิน ฝ้ายเทศ ได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นักร้องเพลงลูกทุ่ง ใน พ.ศ. ๒๕๔๒)

________________________________

โคลง ๒
    o รอยรูปอินทรหยาดฟ้ามาอ่าองค์ในหล้า
แหล่งให้คนชมแลฤๅ ฯ
    o พระองค์กลมกล้องแกล้งเอวอ่อนอรอรรแถ้ง
ถ้วนแห่งเจ้ากูงามบารนี ฯ
    o โฉมผจญสามแผ่นแพ้งามเลิศงามล้วนแล้
รูปต้องติดใจบารนี ฯ
    o ฦๅขจรในแหล่งหล้าทุกทั่วคนเที่ยวค้า
เล่าล้วนยอโฉมท่านแล ฯ
    o เดือนจรัสโพยมแจ่มฟ้าผิบได้เห็นหน้า
ลอราชไซร้ดูเดือนดุจแล ฯ
    o ตาเหมือนตามฤคมาศพิศคิ้วพระลอราช
ประดุจแก้วเกาทัณฑ์ก่งนา ฯ
  o พิศกรรณงามเพริศแพร้วกลกลีบบงกชแก้ว
อีกแก้มปรางทองเทียบนา ฯ
    o ทำนองนาสิกไท้คือเทพนฤมิตไว้
เปรียบด้วยขอกาม ฯ 
    o พระโอษฐ์งามยิ่งแต้มศศิอยู่เยียวยะแย้ม
พระโอษฐ์โอ้งามตรูบารนี ฯ

ร่าย
    o พิศดูคางสระสม พิศศอกลมกลกลึง สองไหล่พึงใจกาม อกงามเงื่อนไกรสร พระกรกลงวงคช นิ้วสลวยชดเล็บเลิศ ประเสริฐสรรพสรรพางค์ แต่บาทางค์สุดเกล้า พระเกศงามล้วนเท้า พระบาทไท้งามสม สรรพนา ฯ

________________________________



    ปก VCD ภาพยนต์เรื่อง "พระลอ"
________________________________


ยอยศพระลอ (แกะจาก VCD "พระลอ" )

(ชาย) รอยรูปอินทร์หยาดฟ้ามาอ่าองค์ในหล้าแหล่งให้คนชม
งามสมขุนลอท้าว น้ำพระทัย ณ หัวเจ้ายิ่งแม่กาหลง
ยาม ธ ทรงคขสาร ธ ยิ่งหาญยิ่งกล้าเกินพญาสีหราชท้าวกลางศึก
พระบาทเจ้าล้านโลกใครบ่เท่าพ่อขุนแมนสรวง
(หมู่หญิง) ลา ล้าลาลาล้าลาลา ล้าลาหล่าล้าลาลา
(ชาย) รูปดั่งองค์อินทร์ หยาดฟ้ามาสู่ดิน โสภินดั่งเดือนดวง
เหนือแผ่นดินแมนสรวง เหนือปวงหนุ่มใด
(หมู่หญิง) ล้าลาล้าหล่าลา ล้าลาลาล้าหล่าลา
(หมู่หญิง) เหล่าอนงค์หลงสวาท ยอม เป็นทาส รักบำเรอ นามขุนลอท้าวเธอ ทรงสถิต ณ ทรวงใจ
(ชาย) ลุ่มแม่กาหลงเจ้าหรือจะเท่าถึงครึ่งแม้น้อยหนึ่งน้ำหทัย เมื่อทรงคชสาร ธ ยิ่งหาญยิ่งกล้า
(หมู่หญิง) หล่าลาล้าลาลาหล่า
(ชาย) ดั่งพญาสีหราชผู้เป็นใหญ่
(หมู่หญิง) หล่าลาล้าลาลาหล่า
(ชาย) ใช่เพียงศึกรบสยบ ธ ทรงชัย แม้ในศึกรัก พระยังยิ่งใหญ่
(หมู่หญิง) หล่าลาล้าลาลาหล่า
(ชาย) นาฎอนงค์ปลงใจใคร่อิงอุ่น
(หมู่หญิง) หล่าลาล้าลาลาหล่า
(ชาย) นับล้านโลการุ่นบ่ควรคู่บุญ ดั่งพ่อขุน (ล้าลา) แมนสรวง เอย


________________________________



    ภาพคุณแก้วมาลูน ผู้เอื้อเฟื้อซีดีภาพยนต์เรื่อง "พระลอ" กำลังร้องเพลง "เอื้องผึ้ง จันผา" โดยมีคุณน้ำมิ้นดีดซึงคลอ
ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย

________________________________

      เพลงไทยเดิมขับร้องอันเกี่ยวแก่พระลอที่ข้าพเจ้ามีฟังอีกเพลง ๑ คือ "ลาวสมเด็จ"

ลาวสมเด็จ

      "เมื่อเอยเมื่อนั้น พระลอวรลักษณ์ล้ำเลขา
เอ๋ยก่องกุหลาบช่อ ชื่นใจพระลอของเผือนี่เอย
เอ๋ยก่องกุหลาบช่อ ชื่นใจพระลอของเผือนี่เอย
พระโฉมเฉิดเลิศมนุษย์สุดโสภา
เฉลิมราไชยศวรรย์ สวรรค์เวียงเอย
เอ๋ยพุ่มพิกุลฉัตร พระจุลจักรพรรดิของเเผื่อนี่เอย
เอ๋ยพุ่มพิกุลฉัตร พระจุลจักรพรรดิของเเผื่อนี่เอย
ผ่านดินแดนแมนสรวงบุรีราช
สนมมาตย์น้อมกายถวายเสียงเอย
เอ๋ยช่อชมนาด พระลอสุดสวาทของเผือนี่เอย
เอ๋ยช่อชมนาด พระลอสุดสวาทของเผือนี่เอย
บรรเลงร้องสนองเสนอบำเรอเรียง
งามเพียงดาวล้อมจันทราเอย
เอ๋ยช่อมะลุลี ชื่นชมบารมีพระลอนี่เอย
เอ๋ยช่อมะลุลี ชื่นชมบารมีพระลอนี่เอย"



พระเพื่อนพระแพงยินกิตติศัพท์รูปโฉมพระลอ บังเกิดจิตโหยหาจนได้ไข้

   แต่ด้วยเปนหญิง จึงมิอาจเอ่ยปากแพร่งพรายเอิกเกริก พี่เลี้ยงทั้งสอง คือนางรื่นแลนางโรยจึงวางอุบาย โดยจะใช้คนไปกระพือข่าวรูปโฉมอันพิลาศล้ำของพระเพื่อนพระแพงให้ยินถึงหูพระลอก่อน แล้วจึงหาผู้ทรงอาคมให้ใช้เวทมนต์ ทำเสน่ห์เรียกพระลอมาสู่สรอง "..ให้ลอบลองเท้าแล้ อยู่ได้ฉันใด"
   ในตอนนี้ ในส่วนการเจรจาตอบโต้กันระหว่างพระเพื่อนพระแพง กับ พี่เลี้ยงทั้งสอง ได้แยกสีไว้ เพื่อให้เห็นเด่นชัด
   เคยมีโคลงบทหนึ่งถูกนำมาเปนตัวอย่างให้ท่องจำ เพื่อจดจำตำแหน่งบังคับ เอก โท ของ โคลง ๔ สุภาพ ได้แก่บทที่พระเพื่อน พระแพง กล่าวตอบเปนนัยแก่พี่เลี้ยงทั้งสอง อันขึ้นต้นว่า.. "เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย..."

   "ซอ" ในที่นี้ แลตลอดทั้งเรื่อง เปนการขับลำนำแบบล้านนาอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดได้จากเว็บของ "สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"
________________________________




โคลง ๔
    o ขับซอยอราชเที้ยรทุกเมือง
ฦๅเล่าพระลอเลืองทั่วหล้า
โฉมบาบพิตรเปลืองใจโลก
สาวหนุ่มฟังเป็นบ้าอยู่เพี้ยงโหยหน ฯ
    o เล่าฦๅโฉมท้าวทั่วเมืองสรอง
ขจรข่าวถึงหูสองพี่น้อง
รทวยดุจวัลย์ทองครวญใคร่ เห็นนา
โหยลห้อยในห้องอยู่เหยี้ยมฟังสาร ฯ
    o พระแพงพระเพื่อนเพี้ยงพิศวง
นับอยู่ในใจจงจอดไท้
มลักเห็นดอกกลหลงฉงนเงื่อน อยู่นา
อกอ่อนรทวยไหม้สรากหน้าตาหมอง ฯ
    o นางโรยนางรื่นขึ้นไปเยือน
เห็นราชสองหมองเหมือนดั่งไข้
ทุกวันดุจดวงเดือนงามชื่น ไส้นา
หมองดั่งนี้ข้าไหว้บอกข้าขอฟังหนึ่งรา ฯ
    o ผิวไข้พูนพยาธิไซร้ยาหาย ง่ายนา
ไข้หลากทั้งหลายใครช่วยได้
ไข้ใจแต่จักตายดีกว่า ไส้นา
สองพี่นึกในไว้แต่ถ้าเผาเผือ ฯ

โคลง ๒
    o ข้าฟังเหลือที่พร้องสองสมเด็จพระน้อง
กล่าวนี้กลใด ฯ 
    o ใดขัดใจแม่ ณ เกล้าสองสมเด็จพระเจ้า
บอกไว้งารเผือ ฯ 

ร่าย
    o เจ็บเผือเหนือแผ่นดิน นะพี่
หลากระบิลในแหล่งหล้า นะพี่
บอกแล้วจะไว้หน้าแห่งใด นะพี่
ความอายใครช่วยได้ นะพี่
อายแก่คนไส้ท่านหัว นะพี่
แหนงตัวตายดีกว่า นะพี่
เจ็บเผือเหลือแห่งพร้อง นะพี่
โอ้เอ็นดูรักน้อง อย่าซ้ำจำตาย หนึ่งรา ฯ

ร่าย
    o ข้าไหว้ถวายชีพิต เผือข้าชิดข้าเชื่อ เขือดังฤๅเหตุใด ธมิไว้ใจเท่าเผ้า สองแม่ ณ หัวเจ้า มิได้เอ็นดูเผือฤๅ ฯ

โคลง ๔
    o เสียงฦๅเสียงเล่าอ้างอันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใครทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหลลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้าอย่าได้ถามเผือ ฯ
    o สิ่งนี้น้องแก้วอย่าโศกา ณ แม่
เผือจักขออาสาจุ่งได้
ฉันใดราชจักมาสมสู่ สองนา
จักสื่อสารถึงไท้หากรู้เปนกล ฯ
    o ความคิดผิดรีตได้ความอาย พี่เอย
หญิงสื่อชักชวนชาย สู่หย้าว
เจ็บเผือว่าแหนงตายดีกว่า ไส้นา
เผือหากรักท้าวท้าวไป่รู้จักเผือ ฯ
    o ไป่ห่อนเหลือคิดข้าคิดผิด แม่นา
คิดสิ่งเปนกลคิดชอบแท้
มดหมอแห่งใดสิทธิ์จกสู่ ธแม่
ให้ลอบลองเท้าแล้อยู่ได้ฉันใด ฯ

ร่าย
    o ข้าจะใช้ชาวในผู้สนิท ชิดชอบอัชฌาไสย ไปซื้อขายวายล่อง แล้วให้ท่องเที่ยวเดิร สรรเสริญสองโฉมศรี ทั่วบุรีพระลอ ขับซอยอยศอ้าง ฤๅลูกกษัตริย์เจ้าช้าง ชื่นแท้ใครเทียม เทียบนา ฯ



คือ พระเพื่อน พระแพง

    แผนประโคมสิริโฉมเพื่อนแพงสัมฤทธิ์ผล
คนของสรองเที่ยวขับซอสรรเสริญความงามพร้อมของพระเพื่อนพระแพง จนทราบถึงพระลอ
พระลอให้คนของเมืองสรองเข้าเฝ้า เมื่อฟังคำพรรณาถึงรูปโฉมพระเพื่อนพระแพงแล้วบังเกิดจิตเสนหา ฝากความนัยไปยังสองศรี พระกรเกยผากไท้ มือลูบทรวงไล้ไล้ ทำเล่ห์ให้เขาเห็น
    เปนอันสำเร็จแผนขั้นต้นของนางรื่นนางโรย

    ในตอนยอสิริโฉมสองศรีแห่งสรองนี้ กรมศิลปากร โดยหม่อมแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ได้ปรับปรุงประดิษฐ์ท่ารำขึ้นมาใช้ในการแสดงนาฏศิลป์ไทยในชุด "ตับลาวเจริญศรี" ชื่อ "ลาวเจริญศรี" (ทำนองเพลง ลาวเล็กตัดสร้อย) เนื้อหาพรรณาถึงความงามของพระเพื่อนพระแพง
    "ตับลาวเจริญศรี" จางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นผู้เรียบเรียงนำมาขับร้องบรรจุเพลงเป็นคนแรก ประกอบด้วยเพลง เกริ่น ลาวเล็กตัดสร้อย ลาวเล่นน้ำ สาวกระตุกกี่ กระแตเล็ก เกริ่น ดอกไม้เหนือ ลาวเฉียง ลาวครวญ ลาวกระแช


ลาวเจริญศรี
     "อายุเยาวเรศรุ่นเจริญศรี
พระเพื่อนพี่ แพงน้อง สองสมร
งามทรง งามองค์ ออนซอน
ดังอัปสรหยาดฟ้าลงมา
แม่คุณเอ๋ย ข้อยบ่เคยพบเจ้า
สองนางลำเพาดูเจ้างามตา
สาวใดบ่เหมือนสองเพื่อนแพงนา
ตั้งแต่ข้อยดูมา ลักษณาบ่ปาน"


________________________________

     ก็ดังข้าพเจ้าจะมีเพลงอันพรรณารูปโฉมสองสมรอีกเพลงหนึ่ง ชื่อ ลาวเสี่ยงเทียน
ซึ่งเปนบทร้องในละครเรื่อง "พระลอนรลักษณ์" อันเปนบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ เนื้อความกล่าวชมโฉมพระเพื่อนพระแพง
จึงเพลานี้ขอนำมาบันทึกไว้เสียก่อน..
     ในส่วนของทำนองเพลง "ลาวเสี่ยงเทียน" ที่แพร่หลายกันต่อมานี้ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำของเก่าซึ่งเปนอัตราสองชั้น มาแต่งขยายขึ้นเปนสามชั้น แล้วต่อมาก็ตัดลงเปนชั้นเดียว จนครบเปนเพลงเถา
ซึ่งต่อมามีการเอาทำนองนี้ไปแต่งเนื้อประกอบอีกมากมาย ทังเพลงไทยเดิม เพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง แลเพลงของคณะสุนทราภรณ์..


ลาวเสี่ยงเทียน (ตัด)

(สามชั้น)
     "ข้อยขอบังคมองค์ทรงภพ เลิศลบแห่งหล้าสุธาไหว
ทรงโฉมประโลมลักษณ์วิไล ดังไทเทวราชปราสาททอง
จะเทียมทัดแต่กษัตริย์นครหนึ่ง ใครไม่ถึงเทียมเธอเสมอสอง
มีธิดานารีพี่น้อง ชื่อพระเพื่อนแพงทองสองอนงค์
ไม่สูงต่ำดำขาวพีผอม พริ้งพร้อมสรรพางค์ดังนางหงส์
อรชรอ้อนแอ้นเอวองค์ ดวงพักตร์โฉมยงดังวงเดือน
พิศพี่ก็ไม่มีเสมอสอง พิศน้องก็ไม่มีเสมอเหมือน
ขนงเนตรเกศแก้มแย้มเยื้อน เหมือนจะเตือนให้ต้องตาชาย

(สองชั้น)
     พระกรรณเปรียบเทียบกลีบบุษบง นาสิกทรงวงขอวิเชียรฉาย
ดำเนินเดินทอดระทวยกาย กรกรายคล้ายงวงเอราวัณ
โอษฐ์นางอย่างสีลิ้นจี่จิ้ม งามพริ้มเพราสมคมสัน
เกศาดำระยับขลับเป็นมัน ทนต์นั้นเทียมสีมณีนิล

(ชั้นเดียว)
     สองถันสันทัดสัตตบุษย์ พึ่งผุดพ้นท่าชลาสินธุ์
ขึ้นบังใบใสสดหมดมลทิน ภุมรินยังมิได้ใกล้เคียง"

________________________________

โคลง ๔
    o ทุกเมืองมีลูกท้าวนับมี มากนา
บเปรียบสองกษัตรีย์พี่น้อง
พระแพงแม่มีศรีสวัสดิ์ยิ่ง คณนา
พระเพื่อนโฉมยงหย้องอยู่เพี้ยงดวงเดือน ฯ
    o โฉมสองเหมือนหยาดฟ้าลงดิน
งามเงื่อนอัปสรอินทร์สู่หล้า
อย่าคิดอย่าควรถวิลถึงยาก แลนา
ชมยะแย้มทั่วหน้าหน่อท้าวมีบุญ ฯ
    o หมื่นขุนถ้วนหน้าส่ำหัวเมือง ก็ดี
อย่าใคร่อย่าคิดเคืองสวาทไหม้
สมภารส่งสองเรืองสองรุ่ง มานา
สองราชควรท้าวไท้ธิราชผู้มีบุญ ฯ

โคลง ๒
    o ยอยศสองอ่อนท้าวฦๅทั่วทุกแดนด้าว
ลอราชได้ฟังสาร ฯ 
    o ฟังตระการอยู่เกล้าให้เร่งเบิกเขาเข้า
มาสู่โรงธาร ท่านแล ฯ
    o ฟังสารสองหนุ่มหน้าจอมราชควรคิดอ้า
อกร้าวหัวใจท่านนา ฯ
    o มลักนึกในคแคล้วผิพี่มีบุญแก้ว
พี่เพี้ยงไปสมเจ้านา ฯ

ร่าย
    o ชมข่าวสองพี่น้อง ต้องหฤทัยจอมราช พระบาทให้รางวัล ปันเสื้อผ้าสนอบ ขอบใจสูเอาข่าว มากล่าวต้องติดใจ บารนี ฯ

โคลง ๒
    o ฉันใดกูจักได้สมพระนุชน้องไท้
อ่อนท้าวทั้งสอง ฯ 
    o ท้าวธจำนองโคลงอ้างโคลงบพิตรเจ้าช้าง
ชื่อแท้ใดเทียมเทียบนา ฯ

โคลง ๔
    o เรียมฟังสารอ่านอ้างอันผจง กล่าวนา
ถนัดดั่งเห็นองค์อะเคื้อ
สองศรีสมบูรณ์บงกชมาศ กูเอย
นอนแนบสองข้างเนื้อแนบเนื้อชมเชย ฯ

โคลง ๒
    o พระกรเกยผากไท้มือลูบทรวงไล้ไล้
ทำเล่ห์ให้เขาเห็น ฯ 

ร่าย
    o เปนปฤศนาแล้วไส้ ธก็ให้เลี้ยงดูโดยขนาด เขาก็ลาพระบาทเมื้อเมือง หน้ารุ่งเรืองชมชื่น ไปบอกแก่นางรื่นนางโรย โดยยุบลทุกสิ่ง จึงสองนางพี่เลี้ยง ทูลแด่สองเนื้อเกลี้ยง ถี่ถ้วนสารแสดง ฯ



นางรื่นนางโรยเสาะหาผู้ทรงเวทมนต์
ให้ช่วยใช้อวิชชาอาคมชักนำพระลอ

    ทว่า ส่วนใหญ่เปนแต่แม่มดหมอผีทำเสน่ห์ ที่ใช้อาคมได้ก็แต่ต่อคนชั่วต่ำช้า เท่านั้น
ทีจักกระทำต่อผู้เปี่ยมบุญบารมีเฉกเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินนั้น หาได้ไม่
    มีปู่หมอใหญ่อาสาพาไปขอความช่วยเหลือจาก "ปู่เจ้าสมิงพราย" ซึ่งเปนผู้เดียวที่อาจทำได้ ... "ธว่าให้ตายก็ตายทันเห็น ธว่าให้เปนก็เปนทันใจ จะลองใครใครก็มา..."

เขียว, เคียว, เครียว (โบราณ) = รีบไป, รีบมา
ลอง = ใช้อาคมเรียกให้มาหา (ภาษาล้านนา อีกคำหนึ่งที่ "ขุนมน" เคยได้ยินแต่ยังเด็ก คือ ตู้ หมายถึงการเสกของเข้าตัวคน เช่น เสกหนังควายเข้าท้อง)
________________________________

ร่าย
     o จึ่งแสวงหายายมด ไปจรดผู้ยายำ จำเอาแต่ผู้สิทธิ์ รู้ชิดใช้กลคล่อง บอกทำนองทุกอัน ครันธช่วยลุไส้ ตูจะให้ลาภจงครัน จะให้รางวัลจงพอ ครั้นพระลอสมสองแล้ว อยู่ช่างยายมดแก้ว อะคร้าวใดปาน เปรียบเลย ฯ

โคลง ๓
    o ยายฟังสารยายส่ายหัวยายเคยลองแต่ตัวชั่วตัวช้า
ยายจักลองเจ้าหล้าบ่ได้หลานเอย ฯ

โคลง ๒
    o ยายเคยใครอย่าไส้ยายช่วยยายชักให้
ถ่องแท้จักไปสู่นา ฯ

ร่าย
    o ยายว่าเยียกระใดเขาทุกผู้ ตูรู้จักเขาทั่วหน้า ย่อมชั่วช้ามิเปนกล เห็นแต่ตูสามคนแก่แม่มดเถ้า แก่เจ้าแม่มดใหญ่ จะลองใครใครก็มา จะหาใครใครก็เต้า เว้นแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ธรู้ศิลป์รู้ศาสตร์ ธมีอำนาจมีบุญ คุณตูไกลท่านไท้ สองราชนั้นฤๅได้ อาจยื้อฤๅถึง เลยนา ฯ

ร่าย
    o ดังจึงตูจะรู้จัก หมอสิทธิศักดิ์สามคน รู้พระมนต์มีฤทธิ์ ลูกศิษย์ปู่สมิงพราย ยายก็นำไปบอก ถึงจรอกหมอแล้วมา ข้าก็เข้าไปสู่ ปู่หมอเฒ่าเจ้าหมอหลวง บำบวงบอกทุกประการ วานธช่วยกังวน หมอกล่าวกลยายมด ตูนี้ยศยังต่ำ ลองแต่ส่ำพอดี พอแรงผีแรงมนต์ เจ้าสากลผ่านหล้า หน้าผู้ใดจะลองลุ สนองนางทุทรฮู ว่าธเอนดูรู้จัก ผู้มีศักดิ์มีสิทธิ์ ผู้มีฤทธิ์มีอำนาจ อาจลองธมาได้ ตูจะให้ลาภจงเต็มกอง ตูจะให้ทองจงเต็มโกฏิ ทั้งผู้บอกโสตรจะรางวัล เชิญบอกพลันอย่าช้า จงดูรู้จักหน้า ท่านให้เต็มใจ หนึ่งรา ฯ

ร่าย
    o หมอว่าในใต้ฟ้า ทั่วแหล่งหล้าผู้ใด ใครจักเทียมจักคู่ ปู่เจ้าปู่สมิงพราย ธว่าให้ตายก็ตายทันเห็น ธว่าให้เปนก็เปนทันใจ จะลองใครใครก็มา จะหาใครใครก็บอยู่ จะไปสู่ท่านไส้ ไว้ตูจะนำไป เถ้าว่าทางไกลจรล่ำ วันนี้ค่ำสองนางเมือ พรุ่งเช้าเขือเขียวมา สองนางลาสองเถ้า ไปบอกแก่สองเจ้า สองอ่อนเท้ายินดี ยิ่งนา ฯ
__________________________


(อ่านต่อ)