ลิลิตพระลอ: ขุนมนเกริ่น
Name:
Location: Bangkok, Thailand

Monday, February 5, 2007

ขุนมนเกริ่น



"ขุนมน" เกริ่น
__________________

     "ลิลิตพระลอ" ที่ปรากฏในนี้ ข้าพเจ้า "ขุนมน" คัดลอกแลบันทึกไว้เพื่อ อ่านเล่นแต่เปนการส่วนตน เท่านั้น

กระนั้นก็ดี..
สำหรับทุกท่านที่มีเหตุให้บังเอิญหลงเข้ามา แลนึกอยากจักอ่านลิลิตมหากาฬเรื่องนี้เล่น
ก็ดั่งจะมีที่พึงตระหนักอยู่บ้าง ดังนี้...


     ในส่วนของเนื้อเรื่อง "ลิลิตพระลอ" ซึ่งบันทึกด้วย o สีเหมือนข้อความนี้ นั้น
ข้าพเจ้า "ขุนมน" ได้คัดลอกคำต่อคำจากหนังสือชื่อเดียวกันของสำนักพิมพ์บรรณาคาร ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๔ ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔
กระนั้นก็ดี อาจมีแยกสีบ้างในบางบทบางช่วง เพื่อเน้นความตามแต่ข้าพเจ้าเห็นว่าควร


     ในส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามา อันข้าพเจ้าบันทึกไว้ด้วย สีเหมือนข้อความนี้ นั้น
ข้าพเจ้ามิได้จงใจแปลหรือถอดความ เปนแต่สรุปเรื่องราวอันเปนสำคัญ แลความคิดเห็นของข้าพเจ้าเอง ตลอดจนเกร็ดต่างๆไว้
     ที่มิได้แปล มิได้ถอดความทังหมดนั้น ก็เพื่อว่า เมื่อเปิดอ่านแต่ละครั้ง จะพึงได้รับอรรถรสของแต่ละบทแต่ละคำตามแต่อารมณ์ กำลังสติปัญญา แลจินตนาการส่วนตน ในตอนนั้น
     นั้นก็เนื่องด้วยว่าลิลิตเรื่องพระลอนี้ ในสายตาของข้าพเจ้า ทีจะแผกจากเรื่องอื่นใดอยู่บ้าง
กล่าวคือ...
ถึงหากว่าจะมิเคยได้อ่าน มิเคยได้รู้เรื่องราวในลิลิตเรื่อง"พระลอ"มาก่อนเลยก็ตาม ครันหยิบจับแต่ตอนใดตอนหนึ่ง หรือแม้โคลงแต่บทใดบทหนึ่งมาอ่าน ก็ย่อมจะยังให้บังเกิดความเพลิดเพลินในกลวิธีเรียงร้อยถ้อยคำที่เลิศล้ำเหลือหลาย
แลก็เมื่ออ่านโดยตลอดทังเรื่อง ยิ่งหลายเที่ยวก็จะยิ่งประจักษ์จิตในความพิสดาร ยิ่งดื่มด่ำแลลึกซึ้งในถ้อยคำสำนวน มากขึ้นเปนลำดับทับทวี
     ก็แลส่วนที่เพิ่มเติมมานี้ ย่อมเปนว่าคือความคิดเห็นส่วนตนของข้าพเจ้าเอง มิได้คัดลอกหรือมีที่อ้างอิงใด แต่หากบางแห่งมีที่มา ที่อ้างอิง ข้าพเจ้าจักระบุไว้ เปนแม่นมั่น

     ในส่วนของภาพประกอบ แม้นมิได้ระบุไว้เปนอย่างอื่น พึงหมายเอาว่าเปนสำเนาภาพฝีมือ ครูเหม เวชกร ซึ่งเคยตีพิมพ์บนปกหลังของนิตยสารชื่อ "วิทยาสาร" เมื่อนานมาแล้วทังนั้น แลหากมีบางภาพที่มิใช่ ข้าพเจ้าจักระบุไว้เปนคราวครา
     ก็แลในเรื่องพระลอนี้ มีการนำเนื้อหาไปทำเปนการแสดง มีการแต่งคำร้อง ใส่ทำนอง ประดิษฐ์ท่ารำ อยู่ก็มาก ซึ่งข้าพเจ้าจักกล่าวถึงเมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปถึงแต่ละตอนนั้นๆ
แลข้าพเจ้าก็มีเพลงเหล่านี้อยู่บ้าง จึงนำมาบันทึกไว้เพื่อฟังเล่นที่เว็บไซต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเปนที่ที่ข้าพเจ้าฝาก "เพลงไทยเดิม" ทังขับร้องแลบรรเลงไว้เพื่อจิ้มฟังเล่น
หากแม้นท่านนึกอยากจักฟัง ก็อาจคลิกเข้าไปฟังได้

เพลงอันเกี่ยวแก่เรื่อง"พระลอ"ที่มีบันทึกไว้..
   ลาวสมเด็จ กล่าวถึงพระลอ
   ลาวเจริญศรี เปนการขับลำนำบรรยายความงามของสองศรีแห่งเมืองสรอง
   ลาวเสี่ยงเทียน (ตัด) เปนเพลงที่กล่าวชมโฉมพระเพื่อนพระแพงอีกเพลงหนึ่ง แต่ในนี้มีเพียงท่อนเดียว
   ลาวสวยรวย บรรยายถึงอาการของพระลอเมื่อโดนมนต์จาก "สลาเหิน"
   ตับพระลอคลั่ง เปนเพลงที่เรียกว่า "ตับเรื่อง" คือเพลงที่ประกอบด้วยหลายๆเพลง ใส่เนื้อร้องบรรยายเรื่องราวต่างๆติดต่อกัน รายละเอียดแลเนื้อร้องของเพลงนี้ ได้บันทึกไว้เมื่อเนื้อเรื่อง "ลิลิตพระลอ" ดำเนินไปถึงช่วงนั้น
เพลงนี้มีความยาว 28:31 นาที ขนาดไฟล์ 4.76 MB
   ลาวครวญ พระลอก่นครวญถึงแม่ที่ริมฝั่งแม่กาหลง พะว้าพะวังจะไปต่อหรือคืนเมือดี แล้วเสี่ยงน้ำดู
เป็นตอนที่สะเทือนใจยิ่งอีกตอนหนึ่งในเรื่อง"พระลอ" นี้
   ระบำไก่ (ปู่เจ้าเรียกไก่, สร้อยแสงแดง) เป็นการนำเนื้อเรื่องในตอนปู่เจ้าสมิงพรายเลือกไก่มาเสกผีลงสิง ใช้ให้ไปล่อนำทางพระลอ เพลงนี้มีความยาว 7:32 นาที ขนาดไฟล์ 4.4 MB
   พระลอตามไก่ เปนเพลงขับร้องประกอบรำ ต่อจาก "ระบำไก่"
บรรยายท่าทางที่ไก่ผีสิงหลอกล่อให้พระลอตามไปสู่เมืองสรอง ตอนนี้รำสวยทั้งไก่ แลพระลอ
เพลงนี้มีความยาว 14:15 นาที encode ด้วย WM 10 เปนไฟล์ WMA 64 kbps, 44 kHtz ขนาดไฟล์ 6.8 MB
   การะเกด หรือ "ลาวเดินดง" เปนเพลงไทยเดิมขับร้องประกอบรำ บรรยายตอนที่พระลอเพลินชมอุทยานหลวงของพระเพื่อน พระแพง
   พระลอเข้าสวน (16:33 นาที) เพลงนี้ประกอบด้วยสามส่วน คือ
ตอนพระลอปลอมเปนพราหมณ์เข้าสู่อุทยาน ตอนพระลอชมสวน(การะเกด - ลาวเดินดง) และ ตอนนายแก้วนายขวัญพบนางรื่นนางโรยในอุทยาน ซึ่งในตอนนี้เปนเพลงชื่อ "ฟ้อนรัก"

     ในส่วนของภาพแลเพลงนี้ หากว่ามีส่วนใดละเมิดลิขสิทธิ์ที่ท่านเปนผู้ถือครองอยู่โดยชอบ โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้า "ขุนมน" ทราบ เพื่อจักได้ลบทิ้งโดยพลัน


     คำนำ "ลิลิตพระลอ"...   
ในส่วนของคำนำ ข้าพเจ้าได้คัดโดยตัดทอนเอาจากคำนำของกรมศิลปากร ซึ่งปรากฏในหนังสือ "ลิลิตพระลอ" ของสำนักพิมพ์บรรณาคาร ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๔ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔


     อนึ่งนั้น.. อันข้าพเจ้านี้ ใช่ว่าจะมีใจรักในตัว "ขุนลอ"ท้าว หรือตัวละครใดในเรื่องพระลอก็หาไม่
ข้าพเจ้าเปนแต่ลุ่มหลงในตัวอักษร ที่ผู้ทรงนิพนธ์ได้ประจงเรียงร้อยไว้อย่างสุดวิเศษ... เท่านั้น

__________________


คำนำ

    ... ฯลฯ ...
.....
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานอธิบายเกี่ยวกับหนังสือลิลิตพระลอไว้ในหนังสือบันทึกสมาคมวรรณคดี ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๕ วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๗

    "... ฯลฯ... ใครเป็นผู้แต่งลิลิตเรื่องพระลอและแต่งเมื่อไร ปัญหานี้ดูเหมือนจะยังไม่เคยวินิจฉัยกันให้ถ้วนถี่ (ภายหลังต่อมา มีผู้สนใจค้นคว้าวินิจฉัยไว้หลายท่าน) ข้าพเจ้าได้อ่านเรื่องพระลอนี้อีกครั้งหนึ่งเมื่อจะแต่งคำวินิจฉัยนี้ ขอเสนอแก่ท่านทั้งหลายด้วย คือข้างท้ายลิลิตมีโคลงบอกชื่อผู้แต่งอยู่ ๒ บท บทหนึ่งว่า "มหาราชเจ้านิพนธ์" หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่ง แต่อีกบทหนึ่งว่า "เยาวราชเจ้าบรรจง" หมายความว่าพระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่ง ที่บอกแย้งกันดังนี้ ส่อให้เห็นว่าผู้ที่แต่งโคลง ๒ บทนั้น เป็น ๒ คน และไม่ใช่ตัวผู้แต่งลิลิตพระลอ โคลง ๒ บท เป็นของแต่งเพิ่มขึ้นแต่ภายหลัง ส่วนผู้แต่งลิลิตเอง ได้กล่าวไว้ในโคลงบานแผนกข้างต้นเรื่องว่า..
"เกลากลอนกล่าวกลการ   กลกล่อม ใจนา
ถวายบำเรอท้าวไท้          ธิราชผู้มีบุญ"
หมายความว่าผู้อื่นแต่งถวายพระเจ้าแผ่นดิน มิใช่พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งเอง เหตุใดผู้แต่งโคลง ๒ บทข้างท้ายลิลิตจึงอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินและพระเยาวราชทรงแต่ง จะลงเนื้อเห็นว่าอ้างโดยไม่มีมูล ก็กระไรอยู่ พิจารณาดูสำนวนที่แต่งก็เห็นได้ ผู้แต่งลิลิตพระลอเป็นผู้รู้ราชประเพณีและการเมือง ต้องเป็นบุคคลชั้นสูงอยู่ในราชสำนัก ประกอบทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญอักษรศาสตร์ ผู้ที่ทรงความสามารถถึงปานนั้นมักเป็นเจ้านาย จะยกตัวอย่างเช่น เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร และ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นต้น จึงสันนิษฐานว่าผู้แต่งลิลิตพระลอนั้น เมื่อแต่งยังเป็นพระราชโอรส และต่อมาได้รับรัชทายาทเป็นพระเจ้าแผ่นดิน โคลงข้างท้ายลิลิตบทที่ว่า "เยาวราชเจ้าบรรจง" แต่งก่อนโคลงบทที่ว่า "มหาราชเจ้านิพนธ์" เดิมก็เห็นจะแต่งเขียนลงในหนังสือพระลอฉบับของผู้แต่งโคลงนั้น ครั้นเมื่อรวบรวมฉบับชำระหนังสือเรื่องพระลอในกาลครั้งใดครั้งหนึ่ง (อาจจะเมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้) พบโคลง ๒ บทนั้น จึงรวบเขียนลงไว้ในฉบับชำระใหม่ด้วยก็เลยติดอยู่
    ปัญหาข้อที่ว่าหนังสือลิลิตพระลอแต่งเมื่อไร ข้อนี้ตัดสินได้ทันทีว่า แต่งก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะหนังสือจินดามณีที่พระโหราฯ แต่งในรัชกาลนั้น ได้คัดเอาโคลงลิลิตพระลอ คือบทที่ว่า
    o เสียงฦๅเสียงเล่าอ้างอันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใครทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหลลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้าอย่าได้ถามเผือ ฯ
มาใช้เป็นแบบโคลง ๔ เพราะเอกโทตรงตามตำราหมดทุกแห่ง นอกจากหนังสือจินดามณี ยังมีเค้าเงื่อนอย่างอื่นเป็นที่สังเกตอีก คือ หนังสือบทกลอนแต่งครั้งกรุงศรีอยุธยา(ว่าตามตัวอย่างที่ยังมีอยู่) ต่างกันเป็น ๓ ตอน
  ตอนต้นนับแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมา ชอบแต่งลิลิตกันเป็นพื้น มีลิลิตโองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยา ลิลิตเรื่องยวนพ่าย และลิลิตเรื่องพระลอเป็นตัวอย่าง สำนวนทันเวลากันทั้งสามเรื่อง พึงเห็นได้ว่าในสมัยนั้นยังไม่สู้ถือว่าคณะและเอกโทเป็นสำคัญเท่ากับคำ
  มาตอนกลางนับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมา ชอบแต่งโคลงและฉันท์กันเป็นพื้น มีโคลงพระศรีมโหสถ และโคลงกำสรวล กับทั้งโคลงเบ็ดเตล็ตเป็นตัวอย่าง ส่วนฉันท์ก็มีเรื่องสมุทรโฆษและเรื่องอนิรุธเป็นตัวอย่าง
  ถึงตอนปลายนับตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ชอบแต่งกลอนเพลงยาวกันเป็นพื้น ซึ่งตัวอย่างมีอยู่มาก ในกรุงศรีอยุธยาตอนกลางและตอนปลายหาปรากฏว่าแต่งแต่งลิลิตเรื่องใดไม่
  จึงเห็นว่าควรถือเป็นยุติได้ว่า ลิลิตเรื่องพระลอนั้นแต่งในกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๙๑ จน พ.ศ. ๒๐๒๖ ส่วนผู้แต่งนั้น จะว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดยากอยู่ ด้วยจะเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หรือสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร พระองค์ใดพระองค์หนึ่งก็ได้ทั้งนั้น เป็นอันรู้ไม่ได้แน่"


    ลิลิตพระลอนี้ ฉบับเก่าที่สุดที่พบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ จัดพิมพ์ขึ้นที่โรงพิมพ์หลวง ไม่ปรากฏ พ.ศ. ที่พิมพ์ ต่อมา หอสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครได้ให้ตีพิมพ์เผยแพร่ตามฉบับโรงพิมพ์หลวงครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ที่โรงพิมพ์ไทย ต่อมาสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดให้พิมพ์ครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่โรงพิมพ์โภณพิพรรฒธนากร ...
... ฯลฯ... ครั้งนี้นับเป็นพิมพ์ครั้งที่สิบสี่ การพิมพ์ทุกครั้งได้ใช้ฉบับ พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งพิมพ์ตามฉบับโรงพิมพ์หลวง ครั้งรัชกาลที่ ๕ มีตัวสะกดการันต์ผิดเพี้ยนบ้างเล็กน้อย ในฉบับโรงพิมพ์หลวงและฉบับพิมพ์ต่อมาทุกครั้ง เขียนชื่อเมืองของพระเพื่อนพระแพงเป็น ๒ อย่าง คือตอนแรกเขียนว่า"เมืองสรวง" (ซ้ำกับชื่อเมืองของพระลอ) ดังนี้ ... พระบาทเจ้าเมืองสรวง สมบัติหลวงสองราชา... แต่ตอนหลังเขียนว่า "เมืองสอง" หรือ "เมืองสรอง" ตลอด ในคราวพิมพ์คราวนี้ ได้ลองตรวจดูในฉบับเขียนสมุดดำอันมีอยู่ในหอสมุดวชิรญาณ ปรากฏว่า ตอนที่ฉบับพิมพ์ทั้ง ๒ เขียนว่า "เมืองสรวง" นั้น ในสมุดดำที่ได้ตรวจดูถึง ๗ ฉบับ เขียนว่า "เมืองสรอง" ดังนี้ ... พระบาทเจ้าเมืองสรอง สมบัติหลวงสองราชา... และต่อๆไปก็เขียนว่า "เมืองสรอง" ทุกแห่ง     อนึ่ง โคลงบทสุดท้ายในเรื่องพระลอนี้ ที่ว่ามีผู้แต่งเพิ่มเติมขึ้นภายหลังนั้น โคลงบาทที่ ๑ ในฉบับพิมพ์ทั้ง ๒ เล่ม เขียนว่า "จบเสร็จเยาวราชเจ้า บรรจง" แต่ฉบับเขียนในสมุดดำที่ได้ตรวจดู ๗ ฉบับนั้น เขียนว่า "จบเสร็จมหาราชเจ้า บรรจง" เหมือนกันทุกฉบับ ... ฯลฯ


จบ คำนำ

__________________

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home